ครั้งหนึ่ง การศึกษามุ่งเอาแต่ "เก่ง" แล้วต่อมาก็บอกว่า ไม่ไหวแล้ว แย่ คนเก่งนี่บางทีทำให้สังคมแย่ ตัวเองได้ แต่ไปข่มเหง รังแกเอาเปรียบเขา ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ต้อง "ดี" ด้วย ก็เน้นดีกันขึ้นมา แล้วต่อมาก็ว่าไม่พออีก ยังขาดว่าต้อง "มีความสุข" ด้วย เพราะถ้าไม่มีความสุข ความดีก็ไม่ยั่งยืน
ในที่สุดก็บอกว่า ต้อง เก่ง-ดี-มีความสุข ตอนนี้ก็เลยมาเน้นกันว่าให้เก่ง ดี มีความสุข ซึ่งก็อยู่ในหลักไตรสิกขานี่แหละ เป็นขั้นลึกลงไปในจิตใจ ที่มีสมาธิเป็นตัวชูโรง เป็นศูนย์รวมของแดนจิตใจนั้น
ที่ว่าอย่างนี้ก็หมายความว่า สมาธินั้น เป็นที่ชุมนุมและเป็นที่ตั้งมั่นอยู่ได้ ของคุณสมบัติทั้งหลาย ทั้งพวกคุณธรรมความดี ทั้งพวกความสามารถเข้มแข็งมั่นคง และทั้งพวกความสุขสงบสดชื่นผ่องใสกับทั้งเป็นแกนในการพัฒนาคุณสมบัติเหล่านั้นทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม จิตใจจะมีเจตนาให้ทำอะไรไปได้แค่ไหนอย่างไร ทั้งหมดนั้น ในที่สุดต้องสำเร็จด้วยปัญญา ซึ่งเป็นตัวให้แสงสว่าง ชี้นำ บอกทาง ดำเนินการ ประเมิน วัด ตัดสิน แก้ไขปัญหาข้อติดขัด จัดปรับวิธีการ ที่จะทำให้ทะลุโล่งไปถึงจุดหมาย ทั้งแก้ปัญหาได้ สร้างสรรค์สำเร็จ และเป็นอิสระ
สามอย่างนี้ ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา มาประสานกัน เสริมกัน ส่งต่อกัน ให้กระบวนการแห่งการศึกษาดำเนินไป เป็นวิถีแห่งการพัฒนาชีวิตที่พอดี เกื้อกูล กลมกลืน อยู่ดีมีสุขด้วยกัน เป็นทางสายตรงลงตัว ที่จะให้ถึงจุดหมายแห่งการมีชีวิตที่ดีงาม ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่รื่นรมย์ ในสังคมที่สันติสุข
หนังสือ สยามสามไตร
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ หน้า ๑๙๐ - ๑๙๑
สามารถอ่านหนังสือเพิ่มเติมได้ที่:
https://book.watnyanaves.net/pdf/viewer.php?bookid=siam_three_tri.pdf
หรือสามารถเลือกอ่านเล่มอื่นได้ที่:
https://book.watnyanaves.net/index.php?floor=education
Instagram: @watnyanavesakavan
เชิงบวก
ไม่บวกไม่ลบ
เชิงลบ